Wednesday, October 28, 2015

Maasai Mara ภาคต่อ : จบไม่ได้ถ้ายังไม่ได้เจอชาวมาไซ

หลังจากตระเวนดูสัตว์ป่ากันอย่างเพลิดเพลิน ในวันที่ 2 ของ game drive เราขอให้คุณไกด์พาเข้าชมหมู่บ้านมาไซด้วย หมู่บ้านนึง ๆ จะอยู่ไม่ห่างกันมาก ชาวมาไซจะเก็บกิ่งไม้ และ กิ่งต้น Acacia อะคาเซีย(ต้นไม้มีกิ่งเป็นหนาม ๆ) มาวางทำเป็นรั้วล้อมรอบหมู่บ้าน สอบถามชาวบ้าน เค้าบอกว่าเอาไว้ป้องกันสัตว์ร้าย เช่น เสือดาว ไฮยีน่า ไม่ให้เข้ามากินวัว กินแพะของชาวบ้าน เพราะป่าสงวนมันไม่มีรั้ว พอตกกลางคืนสัตว์พวกนี้ก็ออกมาเพ่นพ่านแถว ๆ หมู่บ้าน และ แคมป์ที่เราอยู่ แม้กระทั่งน้องหมาในแคมป์ พอตกกลางคืนก็ต้องเก็บให้มันเข้านอนข้างในบาร์ ไม่ปล่อยมันไว้ข้างนอกไม่งั้นจะโดนคาบไปกิน




เราจ่ายค่าเข้าชมหมู่บ้านมาไซไปคนละ 1,000 ชิลลิ่ง ชาวมาไซ(เฉพาะผู้ชาย) จะออกมาเต้นรำเพื่อเป็นการต้อนรับ และ โชว์กระโดดสูง



จากนั้นก็จะมีชว์ จุดไฟด้วยวิธีโบราณ ตรงนี้จะมีการให้นักท่องเที่ยวชายทดลองจุดไฟด้วยวิธีเดียวกันด้วย ถ้าจุดติดปุ๊บเค้าจะเสนอขายไม้จุดไฟพร้อมอุปกรณ์ทันที



พอเดินเข้าในหมู่บ้าน ลานว่าง ๆ ตรงกลาง จะเป็นที่เก็บวัวในตอนกลางคืน ชาวมาไซผู้ชายมีหน้าที่ผลัดกันเฝ้าเวรยาม และ หาอาหารมาให้ครอบครัว

ผู้หญิงมีหน้าที่สร้างบ้าน ซักผ้า เลี้ยงลูก และ ทำอาหาร ฯลฯ หัวหน้าคณะมาไซผู้ชาย พยายามอธิบายว่า ผู้หญิงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเยอะ ชาวมาไซถึงต้องมีเมียหลาย ๆ คน เอาไว้ช่วยกันทำงาน (ข้ออ้างมันฟังขึ้นไม๊เนี่ย) แต่คุณไกด์ก็บอกเราว่าชาวมาไซสมัยใหม่ที่มีการศึกษาแล้วก็นิยมมีเมียคนเดียวจบ ง่าย ไม่ปวดหัว


ตอนนี้เราจะพาทุก ๆ คนเข้าไปดูข้างในบ้านของมาไซนะคะ ก่อนอื่นความเข้าใจดั้งเดิมของเรา บ้านมาไซ คือ ทำมาจากดิน แต่ ในความเป็นจริงแล้ว มันทำมาจากขี้วัวแปะเข้ากับโครงไม้ ทำให้ภายในบ้านอุ่น กลิ่นก็ขี้วัวชัด ๆ แหละ แต่ถึงจะทำจากขี้วัว ชาวมาไซเค้าบอกว่าบ้านของเค้าสามารถอยู่ทนทานได้นานนับ 10 ปีเลยทีเดียว สาเหตุที่เค้าไม่เอาไม้สร้างบ้าน เราคิดว่าน่าจะเป็นเพราะปลวกเยอะมั้งคะ คือมองไปทางไหนก็มีแต่จอมปลวกขึ้นเต็มไปหมด ส่วนหลังคาบ้านไหนมีเงินหน่อยก็จะซื้อแผ่นสังกะสีมาวาง แล้วทับด้วยหินก้อนใหญ่กันปลิว



เจ้าของบ้านเปิดประตูพาชม ห้องแรกคือห้องที่ใช้เก็บลูกแพะ และ ลูกวัวเกิดใหม่ นับเป็นสมบัติมีค่าของชาวมาไซ ต้องระวัง รักษาไว้ให้ดี ตอนที่ไปได้เจอกับลูกแพะเพิ่งเกิดใหม่ได้ 2 ชม. ด้วยค่ะ น่ารักมาก ๆ


เดินตามทางถัดมาจะเข้ามาสู่โถงใหญ่ ตรงกลางจะมีเตาทำอาหาร และ มีรูระบายอากาศเล็ก ๆ
ถ้าหันหน้าเข้าเตาทำอาหาร

ด้านซ้ายมือจะเป็นห้องนอนเจ้าของบ้านและภรรยา (เป็นซอกเล็ก ๆ สูงระดับเดียวกับเตาอาหาร มีผ้าปูรอง) 
ทางด้านขวามือจะเป็นแคร่ เป็นที่นอนของเด็ก ๆ


ปลายแคร่ที่เป็นที่นอนของเด็ก ๆ จะมีอีกห้องหนึ่ง เจ้าของบ้านอธิบายว่าเป็น guest room ลืมบอกว่าในบ้านทั้งหลังมืดมาก มองแทบจะไม่เห็นอะไร นี่เปิดแฟลชถ่ายรูปเอา


พอชมบ้านเสร็จเค้าก็จะต้อนพวกเราไปชมร้านของที่ระลึกของหมู่บ้าน ซื้อก็ได้ไม่ซื้อก็ได้ไม่ว่ากัน แต่คนแห่มามุงดูพวกเรากันทั้งหมู่บ้าน เด็กเล็ก ๆ มีแมลงวันตอมหู ปาก ตา น้ำมูก น้ำลายไหล รองเท้าก็มีแต่ไม่ชอบใส่(แอบเห็นเก็บไว้ใต้แคร่ ตอนเข้าไปชมบ้าน) เสร็จจากกิจกรรมซื้อของที่ระลึก ชาวมาไซผู้หญิงจะมายืนตบมือร้องเพลง ตรงลานกลางหมู่บ้าน ตรงนี้เราไปยืนร้องเพลงร่วมกับสาว ๆ มาไซ และถ่ายรูปร่วมกัน



การถ่ายรูปสาว ๆ มาไซ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ขนาดเราขออนุญาตแล้ว ก็เลยพอถ่ายได้บ้าง แต่ถ้าคุณผู้ชายจะขอถ่ายรูปบ้างจะโดนปฏิเสธทันที  สอบถามผู้รู้ เค้าอธิบายว่า ชาวมาไซเค้าเชื่อกันว่ามันผิดผี ประมาณนี้ อะไรที่เค้าห้ามเราก็อย่าทำ ถึงตอนนี้ถ้าสังเกตที่ตาของชาวมาไซจะเป็นว่าเป็นสีออกเหลือง ๆ น้ำตาล ๆ คือเค้าไม่ค่อยได้ดื่มน้ำ ฝนตกลงมาแป๊บเดียว แล้วก็แห้งหายไปเลย ชาวบ้านก็ไม่รู้จักรองน้ำไว้ใช้ เวลาจะใช้น้ำต้องเดินไปหาบน้ำจากที่ไกลมาก ๆ พอไม่มีน้ำให้ดื่ม ชาวมาไซเค้าจะอาศัยดื่มเลือดจากวัวแทน ด้วยการเจาะเอาเลือดจากคอวัวมาดื่ม โดยที่วัวยังไม่ตายนะคะ (กรี๊ด!! คิดแล้วเสียวแทนน้องวัว)


ส่วนการนุ่งห่มสีแดง ชาวมาไซอธิบายว่า จะได้มองเห็นได้งายในระยะไกล ป้องกันอันตรายจากสัตว์ด้วยค่ะ โดยนักรบมาไซจะแต่งตัวสวยจัดเต็ม เวลาที่มีงานพิธีต่าง ๆ สร้อยคอเป็นเครื่องประดับพื้นฐาน ที่ทุกคนต้องใส่ก่อนออกจากบ้าน ส่วนสร้อยประดับศรีษะโดยมากจะเห็นมาไซผู้ชายสวมใส่มากกว่าผู้หญิง

มาไซผู้ชาย เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธ์ จะถูกจัดเข้ากลุ่ม 10 – 20 คน แล้วให้ไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อเรียนรู้พืชพรรณ สัตว์ป่า และ การดำรงชีวิต เมื่อผ่านการฝึกแต่ละอย่าง นักรบมาไซจะทำรอยต่าง ๆ ไว้บนร่างกาย เช่นคุณคนขับรถของเรา เค้าจะมีรอยแผลเป็นกลม ๆ ที่ต้นแขนขวาเรียงกัน 10 กว่าจุด


จบทริปนี้ขอลาไปด้วยรูปหมู่ และ รูปเด็กเลี้ยงแพะที่เจอระหว่างทาง ถ่ายรูปเสร็จน้อง ๆ ไม่ขอตังค์ แต่ขออาหารแทน โชคดียังมีแอปเปิ้ลเหลือเลยได้แจกให้น้อง ๆ ไป เป็นทริปที่ประทับใจมาก ถ้ามีโอกาสจะกลับไปเที่ยวอีกแน่นอน ถึงแม้จะไม่ได้สระผมเลยตลอดทั้งทริป แขนจะเกรียมไปหน่อย แต่คุ้มค่ามาก ๆ ที่ได้มาสัมผัสธรรมชาติแบบใกล้ชิดขนาดนี้ ขากลับถ้าเจอเด็ก ๆ เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ เค้าจะหยุดโบกมือให้ตลอดทาง น่ารัก และ ประทับใจ สุดท้ายนี้ไม่มีอะไรมาก แค่อยากจะชวนมาเที่ยว Maasai Mara ลองซักครั้งแล้วคุณจะติดใจนะคะ