Thursday, April 23, 2015

พาคุณนายแม่ไปชมเพชร : Part 3 (ภาคจบ)

เพชรตอนสุดท้ายแล้วค่ะ (แอบดีใจจะได้เขียนเรื่องอื่น ๆ บ้าง) อันที่จริง ถ้าจะมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในดีซีนั้นมาวัน จันทร์ - ศุกร์ ช่วงใกล้ ๆ spring break จะดีมาก ๆ เพราะคนจะน้อยหน่อย แต่ถ้ามาช่วงโรงเรียนเปิดเรียนจะเจอกองทัพ school trip นักเรียนก็มีตั้งแต่เด็กจนแก่เลย ถ้าเป็น เสาร์ - อาทิตย์นี่ยิ่งแล้วใหญ่ ผู้คนหอบลูกจูงหลานแถวยาวเลื้อยเลยประตูไปหลายร้อยเมตรเลย พอคนเยอะก็จะหามุมสวย ๆ ถ่ายรูปยาก เพราะฉะนั้นใครวางอยากจะมาเที่ยวก็วางแผนกันดี ๆ นะคะ จะได้ไม่ต้องยืนต่อคิวจนเซ็ง



มาคุยเรื่องเพชรกันต่อดีกว่า (เดี๋ยวไม่จบ) เมื่อตอนที่แล้วทิ้งท้ายไว้ที่สร้อยมรกตล้อมเพชร (ในรูปทางขวามือ) "Mackay Emerald Necklace" 

วันนี้มาดูชิ้นถัดมา (ในรูปทางซ้ายมือ) เป็นสร้อยคอแบบ Art Deco Indian-style ทำขึ้นในปี 1928-1929 ออกแบบโดย Cartier, Inc. สร้อยมีชื่อว่า "Post Emerald Necklace" มรกตที่ใช้ทำสร้อยนำมาจาก โคลัมเบีย และตัดเจียระไนทรงหยดน้ำแบบโบราณ baroque - cut ประดับเข้าเป็นสร้อยกับ platinum, เพชรเม็ดเล็ก ๆ และ มรกตเจียระไนแบบลูกปัด สร้อยมรกตนี้เป็นของ Marjorie Merriweather Post, นักสะสมงานศิลปะ และ jewelry (เศรษฐีนีระดับพันล้านของอเมริกาสมัยนั้น) และได้บริจาคสร้อยนี้ให้แก่สถาบันสมิธโซเนียนในปี 1964



^ข้างบนในรูปนี้เป็น Aquamarine ค่ะ




ส่วนในภาพนี้ (อาจจะเห็นไม่ชัด) บ้านเราเรียกว่า "เพชรตาแมว"




ตู้นี้ก็จะโชว์ "ไข่มุก"



<< ฝั่งซ้ายมือ เป็นสร้อยคอเพชรสีเหลือง (ไม่ใช่บุษราคัมนะคะ) คือเป็นเพชรแต่ไม่ใส จะออกสีอมเหลืองหน่อย สร้อยคอนี้ชื่อว่า "Hooker Yellow Diamonds"


<< ส่วนในฝั่งขวามือ คือ "Hooker Emerald Brooch" ซึ่งเดิมเคยถูกใช้เป็นหัวเข็มขัดมรกตล้อมเพชร ของ สุลต่าน Abdul Hamid II แห่ง อาณาจักรออตโต้มาน ภายหลัง Tiffani & Co. ซื้อประมูลมาได้ในปี 1911 และได้นำประดับเข้ากับมงกุฎ เพื่อจัดแสดงโชว์ในงาน "House of Jewels" ที่นิวยอร์ก ในปี 1940


ต่อมาในปี 1950 มรกตถูกนำมาทำเป็นเข็มกลัด โดยเจียระไนให้เป็นแบบสี่เหลี่ยม beveled square - cut เข้ากับ platinum ล้อม ประดับด้วยเพชรเจียระไนแบบ round brilliant และ baquette (น้ำหนักรวมประมาณ 13 กะรัต)  Mrs. Janet Annenberg Hooker ซื้อเข็มกลัดมรกตล้อมเพชรนี้จาก Tiffani & Co. ในปี 1955 และบริจาคให้กับสถาบันสมิธโซเนียนในปี 1977



ตู้นี้จะเป็น Ruby (ทับทิม) มีทั้งแหวน และ สร้อยข้อมือ


แสงเพชรวูบวาบ บาดตามาก^^





เข็มกลัดในรูปทางซ้ายมือ ประกอบด้วยเพชร 71 เม็ดเล็ก ๆ หลายเฉดสี ซึ่งมีตั้งแต่ไม่มีสี, สีส้ม, สีเหลือง ไปจนถึงสีน้ำตาล กันเลยทีเดียว เข็มกลัดนี้มีชื่อว่า "Wilkinson Diamond Brooch" ซึ่งตั้งตามนาม Mr. & Mrs. Leonard Wilkinson ผู้บริจาคเข็มกลัดให้แก่พิพิธภัณฑ์ในปี 1977 





โชคร้ายที่เพชรเม็ดโต ๆ ในภาพฝั่งขวามือ ดัน ลืม!!จำไม่ได้ว่าชื่ออะไร?? (ใครได้มีโอกาสไปเที่ยวคงต้องฝากดูมาด้วยนะคะ)




Thompson Diamonds สวยงาม...เลอค่ามากค่ะ




สร้อยคอเพชรสีเหลือง Victoria - Transvaal Diamond Necklace 

(เอาจริง ๆ นะ คือ สวยมาก ดูดีมีเสน่ห์กว่าเพชรใส ๆ อีก)





โปรดสังเกตดูประกายเพชร ฟรุ๊งฟริ๊งมาก ๆ







<< "Inquisition Necklace" สร้อยคอเส้นนี้ ว่ากันว่า รูปแบบการเจียระไนเพชรเป็นแบบเก่าแก่ในช่วงประมาณศตวรรษที่ 17 กันเลยทีเดียว 

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 Maharaja แห่งแคว้น Indore ในอินเดีย ได้ซื้อสร้อยเส้นนี้ไว้ ภายหลังในปี 1948 Harry Winston ได้ซื้อสร้อยเส้นนี้ต่อจากลูกชายของ Maharaja  


สร้อยได้ถูกรวมเข้าไว้ใน Winston's Court of Jewels ซึ่งได้นำออกจัดแสดงโชว์ในนิทรรศการต่าง ๆ 


จนกระทั่งในปี 1955 Cora Habbard Williams ซื้อสร้อยต่อจาก Winston และยกให้เป็นสมบัติของสถาบันสมิธโซเนียน ในปี 1972 



ชมเพชรไปเรื่อย ๆ ก่อนนะคะ เยอะมากยังไม่หมด




เพชรเม็ดนี้ คือ ดีงามจริง ๆ ประกายเจิดจรัสมาก 





และ part สุดท้ายนี้ ขอลาไปด้วย เซต "Gift from Napoleon


<< มงกุฎที่เห็นในภาพนี้มีชื่อว่า "Marie - Louise Diadem"  พระเจ้านโปเลียนได้มอบให้พระนาง Marie - Louise เนื่องในพิธีอภิเษกสมรสของทั้ง 2 พระองค์ แต่เดิมเป็นมงกุฎเพชรที่ประดับเข้ากับมรกต,เงิน และ ทอง นอกจากนี้ยังมีสร้อยคอ, ต่างหู (ทั้ง 2 ชิ้น ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Louvre) และ หวี (หักแล้ว) ซึ่งทำเป็นเซตเครื่องประดับเข้ากันกับมงกุฎนี้ด้วย


จากนั้นพระนาง Marie - Louise ได้ยกมงกุฎนี้และเครื่องเพชรอีกจำนวนหนึ่งให้กับ Archduchess Elise และเป็นสมบัติตกทอดไปสู่รุ่นลูกหลาน จนกระทั่งได้ถูกขายให้กับ Van Cleef & Arpels (บริษัทค้าจิวเวอรี่ในปารีส) และถูกเปลี่ยนเอามรกตออกจากมงกุฎโดยใช้ turquoise ประดับเข้าไปแทนที่ และต่อมาได้จัดแสดงโชว์ในนิทรรศการพิเศษ "Empress Marie-Louise" พร้อมทั้งสร้อยคอ, ต่างหู และ หวี เข้าชุดกันที่ พิพิธภัณฑ์ Louvre 


ในภายหลัง Marjorie Merriweather Post ซื้อมงกุฎต่อจาก Van Cleef & Arpels และได้บริจาคมงกุฎนี้ให้กับสถาบันสมิธโซเนียน ในปี 1971




<< ซ้ายมือ คือ Napoleon Diamond Necklace  สร้อยคอเพชรนี้พระเจ้านโปเลียน ได้มอบให้เป็นของขวัญแก่พระนาง Marie - Louise (พระชายาองค์ที่ 2) เพื่อเฉลิมฉลองในวันประสูติพระโอรสของพระองค์ น้ำหนักสร้อยเส้นนี้ประมาณ 263 กะรัต


หลังการสละราชสมบัติของพระเจ้านโปเลียน พระนาง Marie - Louise เสด็จกลับไปยัง กรุงเวียนนา, ออสเตรีย โดยนำทรัพย์สมบัติรวมทั้งสร้อยเส้นนี้กลับไปด้วย เมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ สร้อยได้ตกไปเป็นของ Archduchess Sophie แห่งออสเตรีย (น้องสะใภ้) ซึ่งเป็นผู้ที่แกะเอาเพชร 2 เม็ดออกจากสร้อยไปทำเป็นต่างหู หลังจากนั้นสร้อยก็เป็นสมบัติตกทอดมาสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน จนกระทั่งขายให้กับนักสะสมชาวฝรั่งเศส และ ถูกขายต่อให้กับ Harry Winston Inc. ในปี 1960 


ต่อมา Marjorie Merriweather Post ซื้อสร้อยเพชรเส้นนี้จาก Harry Winston Inc. และบริจาคให้กับสถาบันสมิธโซเนียน ในปี 1962 และได้ถูกนำจัดแสดงไว้คู่กันกับ Marie - Louise Diadem


^^ในที่สุดก็เขียนเรื่องเพชรนี่จบซะที ลากยาวมา 3 ตอน details เยอะมาก ปวดหัวขอตัวไปนอนห่มผ้าก่อน เดี๋ยวคราวหน้าจะพาไปดูอย่างอื่นกันบ้าง^^

Friday, April 17, 2015

พาคุณนายแม่ไปชมเพชร : Part 2

ตอนที่แล้วเขียนซะยืดยาว รูปนี๊ดเดียว เดี๋ยววันนี้จะลงรูปเพิ่มให้สะใจ จะขออธิบาย+ลงรูปโดยไม่เรียงลำดับนะคะ หยิบรูปไหนได้ก่อนเขียนก่อน ha ~ ha


Hazen Diamond Necklace

ขอเริ่มที่สร้อยเพชรเส้นนี้ก่อนเป็นลำดับแรกนะคะ แสงประกายเพชรส่องทะลุตู้โชว์ล่อตาเป็นอย่างมาก สร้อยคอเพชรนี้มีชื่อว่า Hazen Diamond Necklace ออกแบบโดย Harry Winston Inc. (บริษัทจิวเวลรี่ชื่อดัง) 


ตัวสร้อยทำจาก platinum ประกอบด้วยเพชรอีก 325 เม็ด น้ำหนักโดยรวม ประมาณ 131.43 กะรัต สร้อยแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยแถวด้านบนตกแต่งด้วย เพชรเจียระไนแบบ emerald ส่วนแถวด้านล่างอีก 3 แถว ประกอบด้วย แถวที่ตกแต่งด้วยเพชรเจียระไนแบบ baquette, แถวที่เป็นเพชรเจียระไนแบบ round brilliant และมีตะเข็บห้อยเพชรเจียระไนแบบ paer - shaped ห้อยอยู่เป็นแถวสุดท้าย


สร้อยเพชรนี้สามารถสวมใส่ได้ทั้งแบบจัดเต็ม 4 แถว (เหมือนในรูป) หรือ ปลดส่วนด้านล่างออก ให้เหลือเฉพาะช่วงเส้นบนเส้นเดียวแบบคลาสสิคก็ได้ จุดเด่นของสร้อยเส้นนี้ คือการนำเอาเพชรเจียระไน รูปแบบต่าง ๆ มาผสมผสานไว้ในสร้อยเส้นเดียวกันได้อย่างสวยงาม รวมถึงเพชรที่ใช้ก็เป็นเพชรน้ำงามชั้นดี 

เจ้าของสร้อยคอเพชรเส้นนี้คือ Mrs. Lita Annenberg Hazen ซึ่งภายหลังได้บริจาคสร้อยคอเพชรเส้นนี้ให้แก่ สถาบันสมิธโซเนียน ในปี 1979




ชุดถัดมาในภาพ จะเป็น Sapphire นะคะ เดี๋ยวค่อย ๆ อธิบายทีละชิ้น


Logan Sapphire




<< ชิ้นซ้ายมือนี้มีชื่อว่า Logan Sapphire มีน้ำหนักถึง 423 กะรัต ได้มาจากเหมืองคริสตัลในประเทศ ศรีลังกา และเป็นหนึ่งใน blue sapphire ที่เจียระไนแล้ว ที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเป็นอัญมณีที่มีน้ำหนักมากที่สุดใน National Gem Collection ของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

Logan Sapphire ถูกตกแต่งด้วยเงิน, ทอง และ เพชรเจียระไนแบบ round brilliant 20 เม็ด (น้ำหนักโดยรวมประมาณ 16 กะรัต) ทำเป็นเครื่องประดับ เข็มกลัด

โดย Mrs. John A. (Polly) Logan (เจ้าของ)ใช้เป็นเข็มกลัดที่บ่า ก่อนจะบริจาคให้แก่สถาบันสมิธโซเนียน ในปี 1960




Hall Sapphire Necklace และ Bismarck Sapphire Necklace

^ จากภาพด้านบน สร้อยคอทางด้านซ้ายมือ มีชื่อว่า "Hall Sapphire Necklace" ออกแบบโดย Harry Winston Inc. (เจ้าเก่า เจ้าประจำ อีกแล้ว) ตัว Sapphire เจียระไนแบบ cushion จำนวน 36 เม็ด น้ำหนักรวม 195 กะรัต นำประกอบเข้าเป็นสร้อยคอด้วย platinum ล้อมด้วยเพชรเจียระไนแบบ pear - shaped และ round - brilliant จำนวน 435 เม็ด (น้ำหนักรวมเฉพาะเพชร ประมาณ 83.75 กะรัต) 

ตัว Sapphire ได้มาจากการกัดกร่อนของหินภูเขา central mountains ในศรีลังกา โดยคัดแยกออกจากก้อนกรวดด้วยมือ เจ้าของสร้อยคอเส้นนี้ คือ Mrs. Evelyn Annenberg Hall ก่อนที่จะบริจาคให้แก่สถาบันสมิธโซเนียนในปี 1979


^ จากภาพด้านบน สร้อยคอทางด้านขวามือ มีชื่อว่า "Bismarck Sapphire Necklace" ออกแบบโดย Cartier, Inc. ตัว Sapphire มีน้ำหนัก 98.57 กะรัต เจียระไนด้านบนเป็น 8 เหลี่ยม ประกอบเป็นสร้อยคอเข้ากับ platinum พร้อมทั้ง เพชรเจียระไนแบบ baguette และ round - brilliant จำนวน 312 เม็ด เจ้าของสร้อยคอเส้นนี้ คือ Countess Mona von Bismarck บริจาคสร้อยให้แก่ สถาบันสมิธโซเนียนในปี 1967



Chalk Emerald

มาดูมรกตกันบ้างดีกว่า ^ภาพบน คือ "Chalk Emerald" ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้รับบริจาคมาจาก Mr. and Mrs. O'Roy Chalk ในปี 1972  มรกตมีน้ำหนัก 37.8 กะรัต (เดิมก่อนเจียระไน 38.4 กะรัต) นำมาทำเป็นเครื่องประดับแหวน โดยประกอบตกแต่งเข้ากับ platinum, ทอง และ เพชรเจียระไนแบบ pear - shaped จำนวน 60 เม็ด (15 กะรัต) ออกแบบโดย Harry Winston Inc.

Photo from http://geogallery.si.edu/index.php/en/1002007/chalk-emerald

มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า Chalk Emerald นั้น ดั้งเดิมตัวมรกต เคยประดับอยู่บนสร้อยคอเพชร ของมหารานีแห่งเมือง Baroda ประเทศอินเดีย มาก่อน 




>> แถมรูปจากพิพิธภัณฑ์ให้อีกหนึ่งรูป เนื่องจากรูปที่ตัวเองถ่ายมันเห็นไม่ชัด






บรรยากาศในห้องจัดแสดงเป็นไปอย่างคึกคัก ในตู้นี้จะมีป้ายบอกวิธีสังเกตหินอัญมณีชนิดต่าง ๆ

และที่เห็นในตู้โชว์คือ Topaz (บุษราคัม) นะคะ





<< ปิดท้ายตอนนี้ด้วย สร้อยมรกตล้อมเพชร ก่อนยกยอดที่เหลือไว้ไปเขียนต่อในตอนหน้านะคะ สร้อยมรกตล้อมเพชรนี้มีชื่อว่า "Mackay Emerald Necklace" เป็นมรกตที่เจียระไนแล้ว ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน collection ของพิพิธภัณฑ์ (น้ำหนัก 167.97 กะรัต) โดยตกแต่งเข้ากับ platinum, มรกต 35 เม็ด และ เพชรเจียระไนแบบ round brilliant & step cut ล้อมกรอบ และ สายสร้อย จำนวนมากถึง 2,191 เม็ด ออกแบบโดย Cartier, Inc. 

Clarence Mackay มอบสร้อยเส้นนี้ให้เป็นของขวัญแต่งงานแก่ภรรยาของเขา Anna Case ในปี 1931 และ Mrs. Anna Case Mackay ได้มอบสร้อยให้เป็นสมบัติของสถาบันสมิธโซเนียน ในปี 1984


**เขียนเรื่องเพชรเหนื่อยมาก....story ยาวยืด แต่จะพยายามเขียนต่อให้จบในตอนหน้าค่ะ**

>>เบื่อ jewelry แล้วจ้า อยากเขียนเรื่องอื่นบ้าง<<

Wednesday, April 15, 2015

พาคุณนายแม่ไปชมเพชร : Part 1

ช่วงนี้ติดภาระกิจพาคุณนายแม่กับคุณพ่อไปเที่ยว ในแต่ละวันต้องเช็คสภาพอากาศ ถ้าอากาศดี เดินเที่ยวชมนอกสถานที่ ถ้าอากาศหนาวลมแรงหน่อยก็เน้นเดินเที่ยวภายในอาคาร วันนี้ตั้งใจพาพ่อกับแม่ไปเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เพราะ ที่ Washington DC มีพิพิธภัณฑ์ดี ๆ มากมาย และ ที่สำคัญคือ ฟรี!!!


พิพิธภัณฑ์วันนี้ที่เราเลือกไปคือ National Museum of Natural History จุดไฮไลท์ของเราในวันนี้คือการมาดูเพชร เพราะที่พิพิธภัณฑ์นี้จะมีห้องจัดแสดงนิทรรศการเพชร ทอง และ แร่หินอัญมณี ต่าง ๆ (สังเกตสีหน้าแม่แช่มชื่นมากพอบอกว่าจะพามาดูเพชร) 


การท่องเที่ยวในเขตเมือง ดีซี นี้ง่ายมาก ๆ เพราะมีรถบัสและรถไฟใต้ดินไปถึงหมด วันนี้เรานั่ง metro มาเที่ยวกัน ก่อนออกจากบ้านก็ต้องเตรียมน้ำดื่มกับขนมมาด้วย สำคัญมาก ๆ



ที่พิพิธภัณฑ์นี้ก็จะมีห้องจัดแสดงต่าง ๆ สนใจดูรายละเอียดได้ตามนี้เลยจ๊ะ http://www.mnh.si.edu/  ซึ่งเราก็เดินชมไปเรื่อย ๆ แต่วันนี้จุดมุ่งหมายของเราจะเน้นที่เพชรค่ะ หลังจากคุณนายแม่บ่น ๆ ว่าเมื่อย ปวดขา เริ่มทำท่าไม่อยากจะเดินแล้ว ก็เลยต้องรีบพาคุณนายแม่ไปยังห้องจัดแสดงเพชรโดยทันที

ห้องจัดแสดงเพชร และ แร่อัญมณีอยู่บนชั้น 2 หน้าห้องเพชรจะมี จนท.รักษาความปลอดภัยยืนเฝ้าอยู่ในบริเวณนั้นด้วย 




เดินเข้ามาปุ๊บก็จะเจอนี่เลย เพชรโฮป อันโด่งดัง (Hope Diamond) น้ำหนัก 45.52 กะรัต สีของเพชรเค้าบอกว่าเป็นสี Fancy Dark Grayish Blue บางมุมเราจะมองเห็นเป็นสีน้ำเงินเข้ม แต่พอมองอีกมุมจะเป็นสีอมเทา ๆ ค่ะ ซึ่งมูลค่าเพชร ณ ขณะนี้ ประมาณ 200 - 250 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพชรโฮปนี้จัดแสดงไว้ในตู้กระจกนิรภัยทรงกระบอกกันกระสุนหนาถึง 3 นิ้ว อยู่ภายใน Hall of Geology, Gems, and Minerals


ประวัติการครอบครองเพชรในตอนแรกนั้นไม่ปรากฎเป็นที่แน่ชัดจนกระทั่ง มีการเริ่มบันทึกประวัติครั้งแรกโดยพ่อค้าเพชรชาวฝรั่งเศส Jean-Baptiste Tavernier ซึ่งเป็นผู้นำอัญมณีจากอินเดีย รวมถึงเพชรโฮป มาขายให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่ง ฝรั่งเศส ในปี 1668 โดยเพชรโฮป ณ ขณะนั้นเป็นที่รู้จักกันในนาม "The Tavernier Blue Diamond" (112 3/16 กะรัต)


หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงรับซื้อเพชรจาก Tavernier ก็ได้มีรับสั่งให้  Sieur Pitau ทำการเจียระไน โดยหลังการเจียระไน เพชรมีขนาดอยู่ที่ 67 1/8 กะรัต ล้อมรอบด้วยทองคำ และ ใช้เป็นที่กลัดผ้าผูกพระศอของกษัตริย์ในงานพิธีต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้เพชรเป็นที่รู้จักกันในนามว่า "Blue Diamond of the Crown" หรือ "French Blue" 


ในปี 1792 เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส เพชรซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และ พระนางมารี อันตัวเนต ก็ถูกขโมยหายไปจากท้องพระคลัง และ ไม่มีใครได้พบเห็น เพชร French Blue อีกเลย 


ในช่วงเวลาที่เพชร French Blue หายไป จนกระทั่งปรากฎในบันทึกอีกครั้ง เชื่อกันว่า เพชรได้ถูกตัดออกเป็น 2 ส่วน โดยชิ้นส่วนที่ใหญ่ (ภายหลัง เพชรส่วนนี้ก็คือเพชรที่เป็นที่รู้จักกันในนาม Hope Diamond นั่นเอง) ปรากฎในบันทึกปี 1812 เขียนบรรยายโดย John Francillion ถึงเพชรสีน้ำเงิน ขนาด 44.25 กะรัต (177 grains) ไว้ในเอกสารการถือครองของ Daniel Eliason พ่อค้าเพชรชาวอังกฤษ โดยมีหลักฐานอ้างอิงว่า กษัตริย์ King George ที่ 4 แห่งอังกฤษ เป็นผู้ครอบครองคนเดิม ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ในปี 1830 และเพชรสีน้ำเงินนี้ได้ถูกขายอย่างลับ ๆ เพื่อชดใช้หนี้สินของพระองค์


ปี 1839 เพชรสีน้ำเงินได้ปรากฎขึ้นอีกครั้งในรายการบัญชีสะสมอัญมณี โดยการครอบครองของ Henry Philip Hope นายธนาคารผู้มั่งคั่งแห่งอังกฤษ แต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเขาได้เพชรมาจากไหน? ซื้อมาในราคาเท่าไหร่? ใครเป็นคนนำมาขายให้? ซึ่งภายหลัง เพชรสีน้ำเงินนี้ได้ถูกเรียกว่า "Hope Diamond" ตามนามสกุลของเขานั่นเอง

หลังจากที่ Henry Philip Hope เสียชีวิตลง เพชรก็ตกทอดมาสู่หลาน Henry Thomas Hope และในท้ายที่สุดเพชรก็ตกเป็นของ Lord Francis Hope (หลานของ Henry Thomas Hope) ภายหลังในปี 1901 เขาประสบปัญหาล้มละลาย ศาลจึงอนุญาตให้เขาขายเพชรเพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้

เพชรโฮปถูกนำไปขายให้นายหน้าค้าเพชรในลอนดอน และเพชรก็ถูกขายต่อไปโดยทันทีให้กับ Joseph Frankels และ ลูกชาย ซึ่งเป็นผู้นำเพชรโฮปเข้ามายังนิวยอร์ก,สหรัฐอเมริกา ในเวลาต่อมาเพชรได้ถูกขายให้กับ Selim Habib (นักสะสมเพชรชาวตุรกี) และได้นำเพชรออกเปิดประมูลที่ ปารีส ในปี 1909 แต่เพชรไม่ได้ถูกประมูลออกไป ภายหลังได้ถูกขายให้กับ C.H. Rosenau (นายหน้าค้าเพชรในปารีส) และ ขายต่อให้กับ Pierre Cartier ในปีเดียวกัน

ในปี 1910 Cartier พยายามจะขายเพชรโฮปให้กับ Mrs. Evalyn Walsh McLean (ทายาทเจ้าของเหมืองในอเมริกา ส่วนสามีนางเป็นทายาท The Washington Post) ในระหว่างที่ไปฮันนีมูนที่ปารีส แต่ Mrs. Evalyn ไม่ชอบชุดเพชรที่ตกแต่งเข้ากับเพชรโฮป จึงไม่ได้ตัดสินใจซื้อ จากนั้น Cartier ได้ปรับตกแต่งชุดเพชรประดับใหม่ (แบบที่เห็นเป็นจี้ห้อยกับสร้อยเพชรเหมือนในปัจจุบัน) และ นำเพชรโฮปไปเสนอขายอีกครั้งที่อเมริกา ในที่สุด Mrs. Evalyn ก็ตกลงซื้อเพชรโฮปในปี 1912 และครอบครองเพชรอยู่จนกระทั่งเธอเสียชีวิตลงในปี 1947

Harry Winston Inc. (บริษัทอเมริกันจิวเวลรี่) ได้ติดต่อซื้อเครื่องเพชรทั้ง collection จากทายาทของ Mrs. Evalyn ในปี 1949 และอีก 10 ปีให้หลัง เพชรโฮปถูกนำไปจัดแสดงโชว์ในงานนิทรรศการต่าง ๆ ซึ่งจัดโดย Harry Winston Inc.  จนกระทั่งในวันที่ 10 พฤศจิกายน 1958 ทาง Harry Winston Inc. ก็ได้บริจาคเพชรโฮป ให้แก่ The Smithsonian Institue (สถาบันสมิธโซเนียน) และ จัดแสดงโชว์ในพิพิธภัณฑ์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยเพชรโฮป ถูกนำออกจาก พิพิธภัณฑ์แค่เพียง 4 ครั้งเท่านั้น หลังจากที่ได้รับบริจาคมา โดยถูกนำไปจัดแสดงที่ ฝรั่งเศส, แอฟริกาใต้,นิวยอร์ก(ในงานครบรอบ 50 ปี บริษัท Harry Winston Inc.) และ ถูกส่งไปยัง Harry Winston Inc. อีกครั้งเพื่อทำความสะอาด

เพชรเม็ดเดียว รูปถ่ายมาใช้ได้แค่ 2 รูป แต่อธิบายซะยาวเฟื้อยเลย บังเอิญว่าประวัติเพชรโฮปนี้ยาวมาก ทั้งต้องค้นคว้า หาข้อมูล และอธิบายความตามความเข้าใจของเราเองอีก ตกหล่นตรงไหนต้องขออภัยมา ณ ทีนี้ด้วยนะคะ ส่วนรูปเพชรสวยงามอื่น ๆ (สวยมากขอย้ำ) ประวัติก็จะสั้นลงแล้ว และจะขอยกยอดไปไว้เขียนบรรยาย+ภาพประกอบในตอนถัดไปนะคะ

ป.ล. ง่วงมาก เขียนเสร็จปุ๊บ ไม่ได้ตรวจทานโพสเลย(ไว้แก้ทีหลัง) เขียนผิดตรงไหนกระซิบบอกได้เลยนะคะ (สีสันลายตา)

ข้อมูลเพิ่มเติมจากพิพิธภัณฑ์ http://mineralsciences.si.edu/collections/hope/history.htm