Wednesday, April 15, 2015

พาคุณนายแม่ไปชมเพชร : Part 1

ช่วงนี้ติดภาระกิจพาคุณนายแม่กับคุณพ่อไปเที่ยว ในแต่ละวันต้องเช็คสภาพอากาศ ถ้าอากาศดี เดินเที่ยวชมนอกสถานที่ ถ้าอากาศหนาวลมแรงหน่อยก็เน้นเดินเที่ยวภายในอาคาร วันนี้ตั้งใจพาพ่อกับแม่ไปเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เพราะ ที่ Washington DC มีพิพิธภัณฑ์ดี ๆ มากมาย และ ที่สำคัญคือ ฟรี!!!


พิพิธภัณฑ์วันนี้ที่เราเลือกไปคือ National Museum of Natural History จุดไฮไลท์ของเราในวันนี้คือการมาดูเพชร เพราะที่พิพิธภัณฑ์นี้จะมีห้องจัดแสดงนิทรรศการเพชร ทอง และ แร่หินอัญมณี ต่าง ๆ (สังเกตสีหน้าแม่แช่มชื่นมากพอบอกว่าจะพามาดูเพชร) 


การท่องเที่ยวในเขตเมือง ดีซี นี้ง่ายมาก ๆ เพราะมีรถบัสและรถไฟใต้ดินไปถึงหมด วันนี้เรานั่ง metro มาเที่ยวกัน ก่อนออกจากบ้านก็ต้องเตรียมน้ำดื่มกับขนมมาด้วย สำคัญมาก ๆ



ที่พิพิธภัณฑ์นี้ก็จะมีห้องจัดแสดงต่าง ๆ สนใจดูรายละเอียดได้ตามนี้เลยจ๊ะ http://www.mnh.si.edu/  ซึ่งเราก็เดินชมไปเรื่อย ๆ แต่วันนี้จุดมุ่งหมายของเราจะเน้นที่เพชรค่ะ หลังจากคุณนายแม่บ่น ๆ ว่าเมื่อย ปวดขา เริ่มทำท่าไม่อยากจะเดินแล้ว ก็เลยต้องรีบพาคุณนายแม่ไปยังห้องจัดแสดงเพชรโดยทันที

ห้องจัดแสดงเพชร และ แร่อัญมณีอยู่บนชั้น 2 หน้าห้องเพชรจะมี จนท.รักษาความปลอดภัยยืนเฝ้าอยู่ในบริเวณนั้นด้วย 




เดินเข้ามาปุ๊บก็จะเจอนี่เลย เพชรโฮป อันโด่งดัง (Hope Diamond) น้ำหนัก 45.52 กะรัต สีของเพชรเค้าบอกว่าเป็นสี Fancy Dark Grayish Blue บางมุมเราจะมองเห็นเป็นสีน้ำเงินเข้ม แต่พอมองอีกมุมจะเป็นสีอมเทา ๆ ค่ะ ซึ่งมูลค่าเพชร ณ ขณะนี้ ประมาณ 200 - 250 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพชรโฮปนี้จัดแสดงไว้ในตู้กระจกนิรภัยทรงกระบอกกันกระสุนหนาถึง 3 นิ้ว อยู่ภายใน Hall of Geology, Gems, and Minerals


ประวัติการครอบครองเพชรในตอนแรกนั้นไม่ปรากฎเป็นที่แน่ชัดจนกระทั่ง มีการเริ่มบันทึกประวัติครั้งแรกโดยพ่อค้าเพชรชาวฝรั่งเศส Jean-Baptiste Tavernier ซึ่งเป็นผู้นำอัญมณีจากอินเดีย รวมถึงเพชรโฮป มาขายให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่ง ฝรั่งเศส ในปี 1668 โดยเพชรโฮป ณ ขณะนั้นเป็นที่รู้จักกันในนาม "The Tavernier Blue Diamond" (112 3/16 กะรัต)


หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงรับซื้อเพชรจาก Tavernier ก็ได้มีรับสั่งให้  Sieur Pitau ทำการเจียระไน โดยหลังการเจียระไน เพชรมีขนาดอยู่ที่ 67 1/8 กะรัต ล้อมรอบด้วยทองคำ และ ใช้เป็นที่กลัดผ้าผูกพระศอของกษัตริย์ในงานพิธีต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้เพชรเป็นที่รู้จักกันในนามว่า "Blue Diamond of the Crown" หรือ "French Blue" 


ในปี 1792 เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส เพชรซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และ พระนางมารี อันตัวเนต ก็ถูกขโมยหายไปจากท้องพระคลัง และ ไม่มีใครได้พบเห็น เพชร French Blue อีกเลย 


ในช่วงเวลาที่เพชร French Blue หายไป จนกระทั่งปรากฎในบันทึกอีกครั้ง เชื่อกันว่า เพชรได้ถูกตัดออกเป็น 2 ส่วน โดยชิ้นส่วนที่ใหญ่ (ภายหลัง เพชรส่วนนี้ก็คือเพชรที่เป็นที่รู้จักกันในนาม Hope Diamond นั่นเอง) ปรากฎในบันทึกปี 1812 เขียนบรรยายโดย John Francillion ถึงเพชรสีน้ำเงิน ขนาด 44.25 กะรัต (177 grains) ไว้ในเอกสารการถือครองของ Daniel Eliason พ่อค้าเพชรชาวอังกฤษ โดยมีหลักฐานอ้างอิงว่า กษัตริย์ King George ที่ 4 แห่งอังกฤษ เป็นผู้ครอบครองคนเดิม ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ในปี 1830 และเพชรสีน้ำเงินนี้ได้ถูกขายอย่างลับ ๆ เพื่อชดใช้หนี้สินของพระองค์


ปี 1839 เพชรสีน้ำเงินได้ปรากฎขึ้นอีกครั้งในรายการบัญชีสะสมอัญมณี โดยการครอบครองของ Henry Philip Hope นายธนาคารผู้มั่งคั่งแห่งอังกฤษ แต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเขาได้เพชรมาจากไหน? ซื้อมาในราคาเท่าไหร่? ใครเป็นคนนำมาขายให้? ซึ่งภายหลัง เพชรสีน้ำเงินนี้ได้ถูกเรียกว่า "Hope Diamond" ตามนามสกุลของเขานั่นเอง

หลังจากที่ Henry Philip Hope เสียชีวิตลง เพชรก็ตกทอดมาสู่หลาน Henry Thomas Hope และในท้ายที่สุดเพชรก็ตกเป็นของ Lord Francis Hope (หลานของ Henry Thomas Hope) ภายหลังในปี 1901 เขาประสบปัญหาล้มละลาย ศาลจึงอนุญาตให้เขาขายเพชรเพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้

เพชรโฮปถูกนำไปขายให้นายหน้าค้าเพชรในลอนดอน และเพชรก็ถูกขายต่อไปโดยทันทีให้กับ Joseph Frankels และ ลูกชาย ซึ่งเป็นผู้นำเพชรโฮปเข้ามายังนิวยอร์ก,สหรัฐอเมริกา ในเวลาต่อมาเพชรได้ถูกขายให้กับ Selim Habib (นักสะสมเพชรชาวตุรกี) และได้นำเพชรออกเปิดประมูลที่ ปารีส ในปี 1909 แต่เพชรไม่ได้ถูกประมูลออกไป ภายหลังได้ถูกขายให้กับ C.H. Rosenau (นายหน้าค้าเพชรในปารีส) และ ขายต่อให้กับ Pierre Cartier ในปีเดียวกัน

ในปี 1910 Cartier พยายามจะขายเพชรโฮปให้กับ Mrs. Evalyn Walsh McLean (ทายาทเจ้าของเหมืองในอเมริกา ส่วนสามีนางเป็นทายาท The Washington Post) ในระหว่างที่ไปฮันนีมูนที่ปารีส แต่ Mrs. Evalyn ไม่ชอบชุดเพชรที่ตกแต่งเข้ากับเพชรโฮป จึงไม่ได้ตัดสินใจซื้อ จากนั้น Cartier ได้ปรับตกแต่งชุดเพชรประดับใหม่ (แบบที่เห็นเป็นจี้ห้อยกับสร้อยเพชรเหมือนในปัจจุบัน) และ นำเพชรโฮปไปเสนอขายอีกครั้งที่อเมริกา ในที่สุด Mrs. Evalyn ก็ตกลงซื้อเพชรโฮปในปี 1912 และครอบครองเพชรอยู่จนกระทั่งเธอเสียชีวิตลงในปี 1947

Harry Winston Inc. (บริษัทอเมริกันจิวเวลรี่) ได้ติดต่อซื้อเครื่องเพชรทั้ง collection จากทายาทของ Mrs. Evalyn ในปี 1949 และอีก 10 ปีให้หลัง เพชรโฮปถูกนำไปจัดแสดงโชว์ในงานนิทรรศการต่าง ๆ ซึ่งจัดโดย Harry Winston Inc.  จนกระทั่งในวันที่ 10 พฤศจิกายน 1958 ทาง Harry Winston Inc. ก็ได้บริจาคเพชรโฮป ให้แก่ The Smithsonian Institue (สถาบันสมิธโซเนียน) และ จัดแสดงโชว์ในพิพิธภัณฑ์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยเพชรโฮป ถูกนำออกจาก พิพิธภัณฑ์แค่เพียง 4 ครั้งเท่านั้น หลังจากที่ได้รับบริจาคมา โดยถูกนำไปจัดแสดงที่ ฝรั่งเศส, แอฟริกาใต้,นิวยอร์ก(ในงานครบรอบ 50 ปี บริษัท Harry Winston Inc.) และ ถูกส่งไปยัง Harry Winston Inc. อีกครั้งเพื่อทำความสะอาด

เพชรเม็ดเดียว รูปถ่ายมาใช้ได้แค่ 2 รูป แต่อธิบายซะยาวเฟื้อยเลย บังเอิญว่าประวัติเพชรโฮปนี้ยาวมาก ทั้งต้องค้นคว้า หาข้อมูล และอธิบายความตามความเข้าใจของเราเองอีก ตกหล่นตรงไหนต้องขออภัยมา ณ ทีนี้ด้วยนะคะ ส่วนรูปเพชรสวยงามอื่น ๆ (สวยมากขอย้ำ) ประวัติก็จะสั้นลงแล้ว และจะขอยกยอดไปไว้เขียนบรรยาย+ภาพประกอบในตอนถัดไปนะคะ

ป.ล. ง่วงมาก เขียนเสร็จปุ๊บ ไม่ได้ตรวจทานโพสเลย(ไว้แก้ทีหลัง) เขียนผิดตรงไหนกระซิบบอกได้เลยนะคะ (สีสันลายตา)

ข้อมูลเพิ่มเติมจากพิพิธภัณฑ์ http://mineralsciences.si.edu/collections/hope/history.htm