ดูโรงเก็บเครื่องบิน National Air & Space Museum (ตามหา Jetfire : Transformers)
วันนี้จะพาไปดูโรงเก็บเครื่องบิน Air&Space Museum โดยพิพิธภัณฑ์นี้จะมี 2 locations คือ MUSEUM in DC และ UDVAR-HAZY CENTER in VERGINIA ซึ่งพิพิธภัณฑ์ในดีซีได้เคยไปเยี่ยมชมเมื่อนานมาแล้ว และ รูปภาพก็หาไม่เจอแล้ว คราวนี้เลยตั้งใจไปเก็บภาพและจะพาชมโรงเก็บเครื่องบินที่ เวอร์จิเนีย แทนก็แล้วกันนะคะ
ถ้าเดินทางโดยรถยนต์ จะต้องเสียค่าจอดรถ 15$ จอดรถเสร็จ ของไม่มีค่าแนะนำให้ทิ้งไว้ในรถ และ กระเป๋าไม่ควรใช้ใบใหญ่เพราะถ้ายัดเข้าล็อกเกอร์ฝากของไม่ได้จะต้องหิ้วเองตลอดรายการ รวมถึง ห้าม!!! ห่อข้าวห่อน้ำเข้าไปกิน (ขวดน้ำดื่มเล็ก ๆ พกได้)
เกือบลืมบอกไปอีกอย่าง คือ ที่นี่เค้าห้ามเอาไม้ selfie sticks เข้าไปข้างใน พอถึงประตูทางเข้าก็ต้องต่อแถวค่อย ๆ เดินผ่านเครื่องสแกน แล้วผ่านจนท.รักษาความปลอดภัย ต้องเปิดกระเป๋าให้เค้าตรวจดูด้วยค่ะ ผ่านจากจุดนี้เข้าไปจะกลายเป็นว่าเราอยู่ที่ชั้นบนของอาคาร จากนี้ก็สามารถเดินเที่ยวชมได้ตามสบาย
ทางด้านในจะมีเครื่องบิน ยานบิน และ สิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบิน จัดแสดงไว้มากกว่าพันรายการ การจัดแสดงจะมีแบ่งเป็นโซน ดังนี้ Vertical Flight(เช่นพวกเฮลิคอปเตอร์), Sport Aviation(เช่นพวกเครื่องบินเล็กส่วนบุคคล), เครื่องบินพาณิชย์ต่าง ๆ , เครื่องบินที่ใช้ในสงคราม(WWII,สงครามเวียดนาม เกาหลี,สงครามเย็น), เครื่องบินทหารยุคใหม่, เครื่องบินในยุคก่อนปี 1920, เครื่องบินเยอรมันในช่วงWWII, เครื่องบินน้ำหนักเบา, ยานอวกาศ, Rockets&Missiles และ อื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีโรงหนังIMAX ฉายหนัง 3D ต่าง ๆ เกี่ยวกับการบิน และ หอสังเกตุการณ์ที่สามารถมองเห็นวิวสนามบิน Dulles รวมถึงบริเวณใกล้เคียงได้แบบ 360 องศา หรือ bird's - eye view นั่นเอง
บรรยากาศด้านใน เดี๋ยวเราค่อย ๆ เดินดูไปทีละลำนะคะ
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEj01t8u9sLQOX1GdlY4E_OLfXHbuMaM6GwMyf7H7eKghZi_HwykiMdMq7KsU6AjISnfbzXOfEMJ8Ip7gUCVSL-cHn8j2TWBITOz6BDnVQZtBJr_LhB56YbR6JJ_qKcFfgOT28wv1idPNl9e/s400/IMG_1512.jpg) |
Enola Gay
|
<< Boeing B-29 Superfortress Enola Gay ลำนี้เป็นเครื่องบินสัญชาติอเมริกัน ผลิตโดยบริษัทโบอิ้ง ซึ่งถูกใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และ สงครามเกาหลี เครื่องบินใบพัดแบบ 4 เครื่องยนต์ลำนี้ สามารถบรรทุกระเบิดขนาดใหญ่ โดยภาระกิจหลักก็คือ เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด
@ โชคดีอีกแล้วค่ะ ตอนนี้จะมีผู้บรรยายมายืนประจำจุดเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบินลำนี้พอดี @
มีเจ้าหน้าที่มาบรรยาย และ ตอบคำถาม เกี่ยวกับเครื่องบินด้วยค่ะ โดยผู้บรรยายส่วนใหญ่เคยทำงานเกี่ยวข้องและรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องบินลำนั้น ๆ เป็นอย่างดี
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEi181pRsoOpuMhueUnCRaqGvoX-FdooiZsBIMUji9O7swSU7Od-VC7uOwgKW7Du3xYlx8z2J4arMDBFUYbuNWdQmeZqajcxeUzB6pFk6d4OtXnGR301IgWKOrK2CXCoomCOHGlKGGNceTc6/s400/IMG_1510.jpg) |
ลำนี้ชื่อ Enola Gay
|
<< วันที่ 6 สิงหาคม 1945 เครื่องบินลำนี้ได้ถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ จากปฏิบัติการ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงที่เมือง Hiroshima ประเทศญี่ปุ่น และในอีก 3 วันให้หลัง เครื่องบิน Bockscar ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นเดียวกันนี้ ได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 2 ลงที่เมือง Nagasaki (Bockscar ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ the U.S. Air Force Museum, Ohio)
มาต่อกันที่มุมนี้จะเป็นส่วนของเครื่องบินสัญชาติเยอรมัน ที่ใช้กันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพด้านบนมองออกไหมว่าเป็นเครื่องบิน
<< Horten Ho III f ลำที่แขวนอยู่ในรูปด้านบนนั่นแหละค่ะ(เอามาให้ดูชัด ๆ ) เป็นเครื่องบินสัญชาติเยอรมัน ออกแบบโดย Reimar Horten ซึ่งในขณะนั้นได้พยายามที่จะพัฒนาเครื่องบินแบบ wing sailplanes (คล้าย ๆ กับ เครื่องร่อน) โดยทำตัวลำเครื่องและหางให้หดเล็กลง แต่มีปีกใหญ่กว้าง และมีลักษณะเรียบแบน โดย Horten ได้ออกแบบ และ พัฒนาเป็นเครื่องบินต้นแบบในซีรีย์นี้ถึง 18 ลำด้วยกัน Horten Ho III f ลำนี้ ถูกค้นพบในประเทศเยอรมนี ราว ๆ 1 เดือน ภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสภาพดี พร้อมอุปกรณ์ครบเซต
@ เดินตามกันมาเรื่อย ๆ นะคะ --------------->>
เดินต่อมาเรื่อย ๆ ตามทางเดิน ฝั่งทางด้านนี้จะเป็นส่วนของการบำรุงรักษาเครื่องบิน
โซนนี้ไม่ได้อนุญาตให้เราเข้าไปค่ะ แต่ชั้นบนเป็นกระจกซึ่งเราสามารถมองเห็นได้แทบจะทั่วทุกมุมของห้องนี้
โดยเครื่องบินก่อนที่จะนำไปจัดแสดงโชว์นั้น ก็ต้องนำมาตรวจรักษาที่นี่เพื่อให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด
น่าเสียดายที่เรามาไม่ถูกช่วงที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ ไม่งั้นคงจะได้เห็นการทำงานต่าง ๆ ภายในห้องนี้ด้วย
เดินต่อเรื่อย ๆ มาจนถึงด้านนี้จะเป็นโซนกระสวยอวกาศแล้วค่ะ ที่เห็นลำใหญ่ ๆ นั้นคือ กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี่
<<Vega Solar System Probe Bus and Landing Apparatus เป็นยานสำรวจอวกาศ ของทางสหภาพโซเวียต(ในสมัยนั้น) แต่เป็นโครงการที่นักวิทยาศาสตร์และทีมงานจากหลาย ๆ ประเทศ(บัลแกเรีย,เชโกสโลวาเกีย,ฝรั่งเศส,เยอรมันตะวันออก,เยอรมันตะวันตก,ฮังการี,โปแลนด์,สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต) ได้ร่วมกันทำงานในโครงการนี้ ภาระกิจหลักคือการสำรวจดาวศุกร์ โดยในยานสำรวจจะมีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เครื่องจะทำการบันทึกตรวจจับความเคลื่อนไหวของกลุ่มเมฆ และ พื้นผิวดาวเคราะห์ เมื่อยานเข้าสู่วงโคจรของดาวศุกร์ และ เคลื่อนผ่านส่วนปลายของดาวหางฮัลเลย์ เครื่องก็ได้ทำการส่งข้อมูลกลับมายังโลก
โซนนี้จะมีชุดนักบินอวกาศจัดแสดงเอาไว้ด้วยค่ะ
หมวก ถุงมือ และ รองเท้า นักบินอวกาศ ลืมเข้าไปอ่านดูว่าทำมาจากอะไร
<<Paraglider Capsule, Gemini TTV-1 เครื่องนี้เอาไว้ให้นักบินอวกาศใช้ซ้อมในการกลับมายังพื้นผิวโลก โดยนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามคิดค้นวิธีอื่น ๆ ในการลงสู่พื้นผิวโลก นอกเหนือไปจากการลงสู่ผิวน้ำในแบบเดิม ๆ (อันที่จริงมีปีกด้านบนใหญ่มากแต่ไม่ได้เก็บรูปมาฝาก) ใครอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถตามไปดู VDO ตามลิ้งค์นี้ได้ค่ะ อธิบายไว้อย่างดีมาก ๆ https://youtu.be/jub8y6WSI8M
<<Boilerplate Command Module, Apollo,#1102A เครื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Apollo โดยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้นักบินอวกาศได้ทำการฝึกซ้อม จำลองสถานการณ์การกลับลงสู่โลก
<<ดูภาพประกอบค่ะ ซ้อมหย่อนลงทะเล แล้วมุดตัวออกมาแบบนี้
ด้านบนจะมีดาวเทียมแขวนโชว์ไว้อีกเยอะแยะเลย
ส่วนทางด้านมุมนี้จะเป็นโซน Rockets and Missiles
<<ว่ากันว่าในช่วงปี 1920 แนวคิดในการพัฒนาจรวดที่บรรจุเชื้อเพลิงและสามารถบังคับทิศทางในอากาศได้ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่ความฝัน เพราะ ตั้งแต่ที่ประเทศจีนได้ประดิษฐ์พลุไฟที่บรรจุดินปืนขึ้น ก็ไม่ได้มีการพัฒนา ต่อยอด อะไรไปจากเดิมมากนัก
<<แต่ไม่กี่สิบปีให้หลังความฝันก็กลับกลายเป็นจริง เมื่อในศตวรรษที่ 20 นานาประเทศได้พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อาทิเช่น ดาวเทียม, กล้องโทรทรรศน์, ยานอวกาศ หรือแม้กระทั่งการส่งมนุษย์ออกไปสำรวจอวกาศ เพื่อแสดงศักยภาพของตน รวมถึงใช้ข่มขู่ คุกคาม และ ป้องกันตน จากประเทศอื่น ๆ
ทำให้จรวด และ ขีปนาวุธได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการคิดค้นและติดตั้งระบบนำวิถี, เชื้อเพลิงเหลว และ เครื่องยนต์ jet engines ใส่เข้าไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีมากยิ่งขึ้น
<<Redstone Missile เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญด้านการพัฒนาจรวดของสหรัฐอเมริกา
โปรดติดตามต่อในตอนหน้า
***ขอค้างเรื่องพิพิธภัณฑ์โรงเก็บเครื่องบินไว้เท่านี้ก่อน เขียนไม่ทัน(ต้องบินแล้วจ้า) ไว้โอกาสหน้าถึงที่หมาย บ้านพร้อม อินเตอร์เน็ตพร้อม เดี๋ยวมาอัพเดทกันต่อ อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะคร๊า ปล.ไม่ได้ตรวจทานกันเลยเขียนเสร็จปุ๊บอัพปั๊บ***